วันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความเป็นครูแห่งศรัทธา


ความเป็นครูแห่งศรัทธา
        จากปัญหาการเรียนการสอนโดยภาพรวมแล้วที่ทำให้เด็กไม่มีความสุขในการเรียน  ถูกแสดงออกมาหลายเรื่อง  เช่น  สภาพการเรียนการสอนที่น่าเบื่อ  คุณครูไม่ยุติธรรมแก่นักเรียนในเรื่องของการให้คะแนน  คุณครูใจร้ายไม่เข้าใจเด็ก  เฆี่ยนตีและดุด่าเด็กแบบไม่สุภาพไม่มีเหตุผลคุณครูไม่ค่อยมาสอน  คุณครูขี้เมามีกลิ่นสุราติดตัวขณะเข้ามาสอน  คุณครูผู้ชายประพฤติตนไม่เหมาะสมกับนักเรียนหญิง  ลวนลามแล้วขู่ห้ามบอกใครเด็ดขาด  จะเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ก็เป็นแค่ส่วนน้อยในโรงเรียนแต่มีเกือบทุกโรงเรียน  พฤติกรรมของคูรูในลักษณะนี้ทำให้สถาบันการศึกษาเสื่อมโทรม  เนื่องจากไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ปกครองและเด็กนักเรียนไม่อยากที่จะไปเรียนไม่รักการเรียน  ไม่ตั้งใจเรียน  และพฤติกรรมที่ไม่ดีของครูเหล่านี้ยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่นักเรียน  ทำให้นักเรียนบางคนเอาเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีของครูไปใช้  ทำให้นักเรียนกลายเป็นเด็กที่ไม่มีคุณภาพ  สุดท้ายทำให้มาตรฐานการศึกษาในโรงเรียนต่ำลง  ซึ่งสอดคล้องตามความตอนหนึ่ง  จากพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของวิทยาลัยวิชาการศึกษา  ประสานมิตร  เมื่อวันที่  ๑๒  ธันวาคม  ๒๕๑๐  ว่า
        “ งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาติเพราะความเจริญและความเสื่อมนั้น  ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ตามข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีอยู่แล้ว  ระยะนี้บ้านเมืองของเรามีพลเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  ทั้งมีสัญญาณบางอย่างเกิดขึ้นด้วยว่า  พลเมืองของเราบางส่วน  เสื่อมทรามลงไปในความประพฤติและจิตใจ  ซึ่งเป็นอาการที่น่าวิตกถ้าหากยังคงเป็นอยู่ต่อไป  เราอาจจะเอาตัวไม่รอด  ปรากฏการณ์เช่นนี้นอกจากเหตุอื่นแล้ว  ต้องมีเหตุมาจากการจัดการศึกษาด้วยอย่างแน่นอนเราต้องจัดการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น”
        คำว่า “การศึกษา”  นั้น  มีความหมายกว้างขวางและมีนิยามมากมายดังนี้  การศึกษาคือการผสมผสานของกระบวนการทั้งหลาย  เพื่อให้บุคลได้พัฒนาความสามารถทัศนคติและพฤติกรรมอันมีค่าในสังคมของตน  การศึกษาคือกระบวนการทางสังคมที่มุ่งฝึกอบรมคนทั้งหลายในภาวะแวดล้อมที่กำหนดเพื่อให้คนพัฒนาความรู้ความสามารถไปถึงขีดสูงสุดของตน  การศึกษาคือศิลปะการปลูกฝังความรู้ที่ได้ประมวลไว้แต่อดีตให้แก่คนรุ่นต่อไปและ  การศึกษาคือวิชาการขั้นสูงแขนงหนึ่งที่จัดสอนให้สถาบันเพื่อเตรียมคนออกไปประกอบอาชีพครู  มีผู้ประมวลความไว้ว่าการศึกษาประกอบด้วยการรวบรวมสะสมความรู้  การถ่ายทอดความรู้  การปลูกฝังค่านิยม  ถ้ากล่าวโดยสรุปแล้ว  การศึกษาเป้นกระบวนการพัฒนาบุคคล  กระบวนการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมและกระบวนการพัฒนาสังคมประสานกันไปเรื่อยๆ( โกสินทร์  รังสิยาพันธ์  2530 : 9-11 )  ในการศึกษานั้นจะต้องมีผู้ที่ให้การศึกษา  ให้ความรู้  นั่นก็คือ  คุณครูหรือแม่พิมพ์ของชาติ  แต่จะเป็นครูที่ดีได้นั้นจะต้องมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์  ซึ่งมีลักษณะคือ  ครูจะต้องกระทำตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีของศิษย์  เพราะศิษย์เปรียบเสมือนผ้าขาว  ซึ่งซึมซับทุกสิ่งที่สัมผัสโดยเฉพาะครูซึ่งมีเวลาใกล้ชิดกับเด็กมาก  ครูจึงถูกสังคมคาดหวังให้เป็นผู้มีคุณธรรม  จริยธรรม  มีวินัยและจรรยาบรรณครูสูงกว่าบุคลากรในอาชีพอื่น  ดังนั้น  ครูจึงต้องปฏิบัติตามวินัย  และจรรยาบรรณครูที่กำหนดไว้โดยเคร่งครัด  อีกทั้งต้องปฏิบัติตนตามหลักธรรมของศาสนา  เพื่อเป็นแบบอย่างของศิษย์  ตลอดจนผู้ปกครองและคนทั่วไปด้วย  ครูจะต้องสามารถทำงานเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ  นอกจากนั้นครูจะต้องเข้าใจว่าผู้เรียนรู้ได้จากสิ่งรอบตัวทั้งหมด  ทั้งครูที่โรงเรียน  พ่อแม่  ผู้ปกครอง  บุคลากรในชุมชน  ตลอดจนสื่อต่างๆ  ทั้งคอมพิวเตอร์และสื่อโทรคมนาคม  ซึ่งนับวันจะมีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้เรียนมากขึ้น  ดังนั้นครูต้องช่วยให้ผู้เรียนเก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์จากสิ่งรอบตัว  รู้จักคิด  วิเคราะห์  และสังเคราะห์ข้อมูล  เพื่อเลือกรับสิ่งที่ดีมีประโยชน์  เพื่อพัฒนาตนเอง  ชุมชน  และสังคมต่อไป  สงคมคาดหวังให้ครูเป็นปูชนียบุคคล  เป็นแบบอย่างที่ควรเคารพบูชาของศิษย์  ดังนั้นครูจะต้องประพฤติตนอยู่ในกรอบของความเป็นคนเก่ง  และคนดี  อันจะนำศิษย์ไปสู่ความเป็นคนเก่งและคนดีตามไปด้วย  (สำนักงาน  ก.. กระทรวงศึกษาธิการ 2543 : 5 – 6 )
        นอกจากครูจะต้องมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์แล้วจะต้องเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ดีมีสง่าอีกด้วย  เนื่องจาก  กิริยาท่าทางของครูนั้นมีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิดของเด็กมากทีเดียว  ครูควรมีลักษณะการมีอำนาจอิทธิพลได้แก่  ลักษณะพฤติกรรมที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง  มีอิทธิพลในด้านการพูด  มีความคล่องตัวกระฉับกระเฉง  มั่นใจในการตัดสินใจอย่างอิสระเป็นผู้ที่เชื่อถือได้มีความรับผิดชอบ  มีความเพียรพยายาม  และตั้งใจปฏิบัติตามงานที่ได้รับมอบหมายจนสำเร็จ  มุ่งมั่นในงานที่ทำ  เป็นคนไว้ใจได้  รับผิดชอบงานอย่างแท้จริง  มีความมั่นคงทางอารมณ์  และทำงานให้เป็นอิสระจากความวิตกกังวล  และลักษณะการเข้าสังคมควรเข้าร่วมสมาคมได้เป็นอย่างดี  สนทนากับผู้อื่นได้อย่างไม่เก้อเขินน่าสนใจ  ซึ่งจะเห็นว่า  การที่ครูจะพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้มีบุคลิกภาพดีขึ้น  ควรมีคุณสมบัตรดังที่กล่าวมา  นอกจากนี้สุขภาพต้องดี  พูดจาชัดเจน  จักรักษากลิ่นปากและกลิ่นตัว  มีท่าทางสง่างามใบหน้าสะอาด  แต่งกายเหมาะสมเรียบร้อยให้เหมาะสมกับความเป็นครู(คณะอาจารย์ภาควิชาพื้นฐานการศึกษา  ม...  73 – 74 )  นอกจากนี้การผลักดันคุณภาพภายในตัวครูโดยกำหนดขึ้นบนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า  เด็กทุกคนสามารถเรียนรู้ได้  ครูจึงต้องคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับผู้เรียนเป็นสำคัญ  ดังนั้นจึงมีเกณฑ์มาตรฐานวิชาชัพครูเป็นเกณฑ์การปฏิบัติตนและปฏิบัติงานในหน้าที่ของครู  เพื่อประกันคุณภาพการทำงานและการเป็นครู  ประกอบด้วยเกณฑ์  ๔  ด้าน  คือ  รอบรู้  สอนดี  มีคุณธรรมจรรยาบรรณ  และมุ่งพัฒนา  แต่ได้มีการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครูจากเดิม  ๔  ด้าน  เป็น  ๑๑  ข้อ  ให้มีเนื้อหาคลอบคลุมเกณฑ์เดิมดังนี้  มาตรฐาน ๑  ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพอยู่เสมอ  มาตรฐาน ๒  ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ  โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดกับผู้เรียน  มาตรฐาน ๓  มุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนให้เต็มศักยภาพ  มาตรฐาน ๔  พัฒนาแผนการสอนให้สามารถปฏิบัติได้เกิดผลจริง  มาตรฐาน ๕  พัฒนาสื่อการเรียนการสอน  มาตรฐาน ๖  จัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เกิดกับผู้เรียน  มาตรฐาน ๗  รายงานผลการพัฒนาคุณภาพ  มาตรฐาน ๘  เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์และสังคม  มาตรฐาน ๙  ให้ความร่วมมือในสถานศึกษา  มาตรฐาน  ๑๐  ให้ความร่วมมือในชุมชน  มาตรฐาน ๑๑  ใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา  (สำนักงาน  ก.. กระทรวงศึกษาธิการ  2543 : 99 – 114 )  ในเรื่องของความเป็นครูยังมีสิ่งที่ลึกซึ้งอีกมากมายอย่างเช่นคุณธรรมและจรรยาบรรณสำหรับครู
        คุณธรรมสำหรับครูนั้น  ในทางพระพุทธศาสนายกย่องครูว่าเป็นปูชนียบุคคลเป็นผู้กระทำหน้าที่เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า  เป็นผู้นำทางวิญญาณหรือยกระดับวิญญาณของมนุษย์ให้สูงขึ้น  เป็นกัลยาณมิตร  เป็นแบบอย่างของศิษย์  เป็นพ่อแม่คนที่สองของศิษย์  เมื่อเป็นเช่นนี้ครูจะต้องฝึกอบรมและกระทำตนให้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์  ให้เป็นคนมีจิตใจสูง  นั่นคือ  จะต้องเป็นผู้ที่เจริญด้วยคุณธรรม  คุณธรรมที่เป็นคุณสมบัติของครูมี  ๗  ประการ  คือ  ๑) ปิยตา  คือ  การทำตนให้เป็นคนน่ารักและให้เป็นที่รักของศิษย์  ๒)  ครุตา  คือ  การทำตนให้เป็นคนน่าเคารพให้เป็นที่เคารพของศิษย์  ๓)  ภาวนียตา  คือ  การอบรมตนให้เจริญ  อบรมตนให้เชี่ยวชาญในวิชาการ  ให้เจริญด้วยศีลธรรม  ๔)  วัตตุตา  คือ  การอุตส่าห์สั่งสอน  มานะอบรมตักเตือนด้วยการสอน           ๕)  วัจนักขันติ  คือ  การเป็นคนอดทนต่อถ้อยคำ  ต่อคำรบกวนของศิษย์  ๖)  คัมภีรกถากรนัง  คือ  การขยายของที่ยากซับซ้อนให้ง่ายโดยวิธีต่างๆ  ๗)  อนิโยชนัง  คือ  การไม่ชักนำศิษย์ไปในทางที่ไม่ควร  (โกสินทร์  รังสิยาพันธ์  2530 : 23 – 24 )  สำหรับจรรยาบรรณนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับครู  ควรค่าแก่การประพฤติปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง  ซึ่งจะให้ความหมายของจรรยาบรรณได้ดังนี้
        จรรยาบรรณ  คือ  จริยธรรม(จริยธรรมคือความประพฤติที่ดีงาม)ของผู้ประกอบวิชาชีพที่องค์กรวิชาชีพกำหนดขึ้นให้คนในวงการของตนปฏิบัติ  จรรยาบรรณของครูก็คือข้อกำหนดของคุรุสภาที่กำหนดให้ครูประพฤติปฏิบัติ  ระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณครู  พ..  ๒๕๓๙  มีดังนี้  ๑)  ครูต้องรักและเมตตาศิษย์โดยให้ความเอาใจใส่และให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์  ๒)  ครูต้องอบรมสั่งสอน  ฝึกฝน  และสร้างเสริมความรู้และนิสัยที่ถูกต้องดีงาม  ๓)  ครูต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งกาย  วาจา  และใจ   ๔)  ครูต้องไม่กระทำตนให้เป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย  สติปัญญา  จิตใจ  อารมณ์และสังคมของศิษย์   ๕)  ครูต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและไม่ใช้ จ้างวาน  ให้ศิษย์กระทำการใดๆอันเป็นการหาประโยชน์แก่ตนโดยมิชอบ  ๖)  ครูต้องพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ  ด้านบุคลิกภาพและวิสัยทัศน์ให้ทันต่อการพัฒนาทางด้านต่างๆ  ๗)  ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครู  ๘)  ครูพึงช่วยเหลือและเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์  ๙)  ครูพึงประพฤติและปฏิบัติตน  เป็นผู้นำในการอนุรักษ์  และพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่เสมอ  (สำนักงาน  ก.. กระทรวงศึกษาธิการ 2543 : 131 – 133 )  ในงานด้านการศึกษานั้น  หลาย ๆ คนอาจมองว่าเริ่มต้นตั้งแต่สอนให้อ่าน ให้เขียน ก.ไก่ ข.ไข่ ความจริงไม่ใช่ นักปราชญ์ทุกยุคทุกสมัยให้การสังเกต แล้วพบความจริงอย่างหนึ่งว่า  “พ่อแม่คือครูคนแรกของลูก”  ดังที่ข้าพเจ้าได้สัมภาษณ์เพื่อนคนหนึ่งเมื่อวันอังคารที่  ๑๔  พฤศจิกายน  พ..  ๒๕๕๔   เธอมีชื่อว่า  นิตยา  ชุ่มเย็น  เธอได้กล่าวว่าครูคนแรกของเธอก็คือคุณแม่ของเธอนั่นเองและเธอได้ให้เหตุผลว่า  เพราะทันทีที่ลูกคลอดออกมาแม่ต้องทำหน้าที่เป็นครูสอนสุขศึกษาทันที  แม้ท่านไม่ได้สอนอย่างครูในโรงเรียน  แต่วิธีของท่านทำให้ลูกได้วิชานี้ติดตัวไว้ใช้จนวันตาย  คือ  การดูแลรักษาความสะอาดของลูกเอง  การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ทำให้ร่างกายแข็งแรง  เธอได้บอกว่าแม่ของเธอเป็นคนที่ใจดีมากๆ  รักและห่วงใยเธอเสมอ  คอยให้คำปรึกษาพูดคุยกับเธอและให้ทั้งความรู้  ความรัก  ความอบอุ่นกับเธอเป็นอย่างดี  ท่านเป็นครูที่คอยสอนในเรื่องต่างๆมากมาย  เช่น  เรื่องของการเป็นคนดีของสังคม  เป็นบุคคลที่ทันโลก  ทันเหตุการณ์  และทันคน  เพื่อให้เธอเอาตัวรอดได้ในสังคมเป็นอย่างดี
        หลังจากที่ได้สัมภาษณ์เพื่อนในเรื่องของครูคนแรกแล้ว  ข้าพเจ้าได้ทำการสัมภาษณ์ครูในโรงเรียนลานทรายพิทยาคม  ชื่อนางจุฬาลัย  เวชสถล  ตำแหน่งครูชำนาญการพิเศษ  เมื่อวันเสาร์ที่  ๑๗  ธันวาคม  พ.๒๕๕๔  ในหัวข้อ  “เพราะอะไรท่านจึงรักในวิชาชีพครู”  ท่านได้ให้การสัมภาษณ์ว่า  “วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพที่สังคมคาดหวังไว้ว่า  ลูกหลานของตนจะต้องเป็นคนมีความรู้และเป็นคนดีในสังคม  เมื่อเป็นวิชาชีพที่สังคมคาดหวัง  ครูที่ทำให้สังคมสมหวังหรือประสบความสำเร็จครูย่อมมีความสุขที่สุด  และที่สำคัญที่สุดคือเด็กที่ครูสอนจะไปเป็นอนาคตของชาติในวันข้างหน้าและความรู้ที่ครูได้มาถ้าไม่ได้ถ่ายทอดไปสู่นักเรียนมันก็ไม่มีความหมาย  ครูรักและเคารพในจรรยาบรรณครู  และในจรรยาบรรณของความเป็นครูนั้นครูจะต้องศรัทธาในวิชาชีพครู  เพราะเป็นอาชีพที่มีคุณค่า  เป็นอาชีพที่สร้างคนให้มีความรู้และมีคุณธรรมจริยธรรม  ดังนั้นผู้ที่อยู่ในวิชาชีพนี้จะต้องประกอบวิชาชีพนี้ด้วยความรักและชื่นชมในความสำคัญของวิชาชีพ  สรุปเลยนะว่าครูรักอาชีพนี้เพราะครูรักนักเรียน  และครูรักชาติ ”  จากเหตุผลที่ได้ฟังจากการให้สัมภาษณ์แล้วทำให้ข้าพเจ้าดีใจที่ได้เข้ามาศึกษาในความเป็นครู  เพราะนอกจากจะเป็นการให้ความรู้ความสามารถแก่นักเรียนแล้ว  วิชาชีพครูยังเป็นผู้สร้างอนาคตของชาติอีกด้วย 
        นอกจากนี้ยังมีสัตว์ชนิดหนึ่งนั่นก็คือ  “ม้า”  ข้าพเจ้าจะนำมาเปรียบเทียบในหัวข้อ  “ครูกับม้า”  ซึ่งมีสิ่งที่คล้ายคลึงกันคือ  การพาคนที่ตัวเองรักไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่คาดหวัง  ม้ายอมให้เจ้าของของมันขึ้นขี่เพื่อที่เจ้าของของมันจะได้ไม่เหน็ดเหนื่อยในการเดินทางแม้ตัวม้าเองจะเหนื่อยและหนักก็ตาม  ส่วนครูก็เช่นกันยอมให้นักเรียนมาคลุกคลีพูดคุย  ถามไถ่  การบ้านหรือแบบฝึกหัดนอกเวลาเรียน  แม้ครูจะเหน็ดเหนื่อยกับการสอนและงานอื่นๆมาแล้วก็ตาม  ท่านก็ยอมเสียสละเพื่อที่จะให้ลูกศิษย์ของตนเข้าใจและทำแบบฝึกหัดได้  ม้ามีความอดทนสูงมากแม้จะหิวมากแค่ไหนแต่เมื่อเจ้าของยังไม่สั่งให้หยุดพักหรือให้กินอะไรมันก็พยายามที่จะพาเจ้าของของมันเดินต่อไปได้  ส่วนครูเมื่อสอนนักเรียนอาจจะไม่ได้ทานข้าวมาแต่ต้องมาทำหน้าที่ก่อน  ถึงแม้จะหิวและเหนื่อยแค่ไหนครูก็ใช้ความอดทนของความเป็นครูพยายามสอนให้ครบชั่วโมง  “ม้า”ถึงแม้ระยะเวลาในการเดินทางจะยาวไกลมากมันก็จะพยายามพาเจ้าของสุดที่รักของมันไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่ต้องการ  ครูก็เช่นกัน  ไม่ว่าจะเหน็ดเหนื่อยจากงานทางครอบครัว  งานทางโรงเรียน  งานการสอนนักเรียน  และติวนักเรียนนอกเวลาแล้ว  ครูก็พร้อมและยินดีที่จะพาลูกศิษย์สุดที่รักไปให้ถึงจุดหมาย  ไปให้ถึงฝัง  และไปสู่อนาคตที่ดีได้
        “ ความรู้ที่ใช้ปฏิบัติงานนั้นนอกจากความรู้ทางวิชาการที่กล่าวแล้ว  ยังมีความรู้ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง  ที่เป็นของคู่กัน  ได้แก่  ความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ ”  ( พระบรมราโชวาทที่พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  เมื่อวันที่  ๑๓  กรกฎาคม  ๒๕๓๒ )

1 ความคิดเห็น:

  1. เรื่องความเป็นครูแห่งศรัทธานี้ เป็นเรื่องที่ดิฉันทำขึ้นมา เนื่องจากเรียนวิชาความเป็นครูแล้วอาจารย์ให้ทำ เลยขอนำมาเผยแผ่ให้ท่านที่สนใจได้อ่านกันค่ะ

    ตอบลบ